ตักบาตร พิธีตักบาตรเที่ยงคืน เป็นการใส่บาตรด้วยเวลาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการทำบุญตักบาตรโดยทั่วไป ทำให้ดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น แต่สำหรับพุทธบริษัทในภาคเหนือแล้ว การตักบาตรในยามเที่ยงคืนในวัน เป็งปุ๊ด ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนา ที่สืบทอดปฏิบัติ
ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนหรือวันเป็งปุ๊ด
ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน หรือพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ ในทุกปีที่มีวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระภิกษุสามเณรในเมืองทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน โดยมีความแตกต่างของการนับเวลาคือ ที่ จ.เชียงใหม่ จะตักบาตรคืนวันอังคารหลังเวลา เที่ยงคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่วันพุธ ในขณะที่ เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จะตักบาตรในคืนวันพุธเวลา เที่ยงคืน เป็นต้นไป ทั้งนี้ บางปีอาจมีครั้งเดียว หลายครั้ง หรือไม่มีเลย ก็ได้ เป็นประเพณีนิยมที่มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือคงรับเอามาจากพม่าอีกต่อหนึ่ง พม่ามีความเชื่อว่า พระอุปคุตซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ 1 ปีจะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ
ความเชื่อของการตักบาตรเที่ยงคืนในวันเป็งปุ๊ด
ชาวพม่ามักตื่นแต่ดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภ และความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาไม่ต่ำกว่า 250ปี จากหลักฐานประวัติของวัดที่มีการบูรณะฟื้นฟูครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2300 พบว่ามีการสืบทอดประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าอาวาสวัดทุกยุคทุกสมัยได้จัดประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนถือปฏิบัติโดยทั่วไปในภาคเหนือ แต่พบมากใน เชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพม่า ในยุคที่อาณาจักรล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในช่วง พ.ศ.2101-2317 กระทั่งวัฒนธรรมไทยลื้อได้หล่อหลอมผสมผสานกับวัฒนธรรมล้านนา และวัฒนธรรมของคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน ของพม่า ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อใกล้ถึงเวลาเที่ยงคืน พระสงฆ์ 50รูปของวัดจะออกมารับบาตรข้าวสารอาหารแห้ง โดยผู้ที่ใส่บาตรมีความเชื่อว่า พระอุปคุตจะมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ ชาวบ้านจะตื่นแต่ดึก เตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตรุ่งเรืองด้วยโชคลาภ ปลอดภัยจากอุบัติภัยทั้งปวง